เคนมผง-ทะเลทราย สอนเด็กให้รู้กลัวภัย

แชร์เนื้อหานี้

ข่าวสูตร “ยานรกเคนมผง” และ “ยาเคทะเลทราย”…ร้ายแรงจนผู้เสพเสียชีวิตจำนวนมาก ในหลายพื้นที่ ข่าวแบบนี้ในมุมของสังคมคงเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่…ในมุมของ “ครูฝ่ายปกครอง” ที่ดูแล “นักเรียน” กลุ่มวัยรุ่นอยู่นั้นนับว่าเป็น…ข่าวดี เพราะจะนำเรื่องนี้ไปสอนเด็กๆให้ “กลัว” เรื่อง “ยาเสพติด” ได้

คุณครูสุรียุตร เล้ากิจเจริญ ครูฝ่ายปกครองโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่า การใช้ยาต่างๆ แล้วนำมาผสมกัน จนเกิดเป็นยาเสพติดสูตรใหม่ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น…ทำกันมานานมากแล้ว

เภสัช” เป็นคำที่ผู้ใช้ยาเสพติดมักจะใช้เรียกเพื่อน ผู้ที่มีความสามารถในการปรุงยา คือนำยาหลายชนิดมาผสมกัน ซึ่งยาที่นำมาทำยาเสพติดพวกนี้มีขายตามท้องตลาด ก่อนที่จะเป็นข่าวเรื่องยาเคนมผงนั้นก็มียาเสพติดอีกมากมายหลายตัวระบาดหนักในหมู่วัยรุ่น

ประเด็นสำคัญมีว่า…จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลของครูฝ่ายปกครองด้วยกันในพื้นที่ระดับจังหวัด พบการระบาดของยาที่เรียกว่า “เขียวเหลือง” หรือ “B5” เป็นจำนวนมาก ยาพวกนี้คือยาแก้ปวด เด็กๆจะเอามาผสมกับยาแก้ไอ แรงไปถึงน้ำกระท่อม พอเสพไป มักจะมีอาการที่เด็กๆ เขาเรียกว่า ฟิน หรือเบลอๆไป

“ยาแบบนี้ ปัจจุบัน ไม่มีความผิดตามกฎหมาย เมื่อเด็กไปเสพมา ไม่สามารถตรวจฉี่เป็นผลบวกหรือลบ หรือฉี่สีม่วงหรือไม่ม่วงได้ แต่ตรวจได้จากประสบการณ์ของครูฝ่ายปกครอง คือมองที่ตา จะเห็นว่าตาจะลอยค้างแบบผิดสังเกต”

นับว่า…เป็นปัญหาที่น่าห่วง เพราะยาที่อยู่ในหมวดควบคุมแบบนี้ หลุดออกไปให้พ่อค้ายาเสพติดเหมามาขาย ในปริมาณที่มหาศาล ทั่วทั้งประเทศ และผู้ซื้อก็ไม่มีความผิด พกยาแบบนี้สบายใจกว่าพกยาบ้า ยาไอซ์

แต่สิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้น ผู้ปกครองยังรู้ไม่เท่าทัน คือการขายยาแบบนี้ ขายกันในเฟซบุ๊ก ในไลน์ หรือทวิตเตอร์ ในโลกออนไลน์ มีการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา ก่อนจะซื้อขายต้องเห็นหน้ากันในโลกออนไลน์ก่อน จากนั้นจึงมีการสั่งยากัน และยังมีบริการส่งถึงบ้านผ่านขนส่งด่วนต่างๆ

พร้อมเก็บเงินปลายทาง หรือบางรายให้เครดิตแบบลอตชนลอต คือรับของครั้งนี้ไปจ่ายครั้งหน้าเสียด้วยซ้ำ

ครูสุรียุตร ย้ำว่า การขายยาแบบนี้มีมากจริงๆ อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลองทดลองค้นหาคำว่า “เม็ดเมา” ในกูเกิล แล้วลองดูว่า ยาแบบนี้ขายกันเกลื่อนโลกออนไลน์ขนาดไหน

ราคายาพวกนี้ เม็ดละ 8 บาทขึ้นไป เด็กสามารถจับต้องได้ จากการซักประวัตินักเรียนที่ไปเล่นยาพบว่า เขาจะตั้งกลุ่มขึ้นมา จะให้ส่งไปรษณีย์ไปบ้านของเพื่อนคนที่ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่สนใจ หรือตายายปู่ย่าที่ไม่เข้าใจเรื่องแบบนั้น…จากนั้นจะให้เภสัชในกลุ่ม นำมาปรุงตามสูตร บางคนไม่ปรุง นำยามาทดลองอมให้ยาละลาย

บางคนอมไปถึง 5 เม็ดกว่าจะออกอาการ

นอกจากยาพวกนี้ ยังมีการใช้เครื่องดื่มชูกำลังมาผสมน้ำอัดลมสีดำ มีสูตรการผสมในปริมาณที่เขากะเกณฑ์มา และต้องทิ้งค้างคืนไว้ เมื่อทั้งหมดเป็นไปตามสูตร ก็จะมีการตั้งวงดื่มกัน รสชาติจะออกฟินๆ ตามเคย ซึ่งทั้งหมดเป็นผลร้ายต่อการเรียน เป็นผลต่อสมองของเด็กทั้งสิ้น

ข้อมูลปัจจุบันยิ่งน่าตกใจ ครูสุรียุตร บอกอีกว่า พ่อแม่รักลูกมาก เข้าข้างลูกทุกอย่าง เด็กสูบบุหรี่ เมื่อโดนครูจับได้เรียกมาถาม มักจะตอบว่า อยู่ที่บ้านพ่อแม่ให้สูบบุหรี่ได้ เพราะพ่อแม่ก็สูบ

แล้ว…เมื่อมาโรงเรียนครูจะทำอย่างไร ครูจึงคิดกันว่า มันคือหน้าที่ ปล่อยไม่ได้ บางครั้งถ้าลงโทษไป ผู้ปกครองมาโวยวาย เราก็ต้องทำ ซึ่งก่อนการลงโทษเราต้องแจ้งผู้บริหารให้รับทราบ เพราะเราต้องป้องกันเด็กส่วนใหญ่เอาไว้ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว

“ความคิดของครูชัดเจนทุกคน ไม่มีใครอยากให้เด็กไปยุ่งกับยาเสพติด เด็กบางคนเห็นมาตั้งแต่เล็กๆ พอโตมาไปสูบบุหรี่ พ่อแม่กลับไม่ว่า ครูก็รู้สึกใจหาย

ทางแก้ของครูตอนนี้คือ…ไม่ยอม และไม่ปล่อย ที่บ้านปล่อยให้สูบ แต่ที่โรงเรียนจะไม่ปล่อย”

ถึงตรงนี้จึงเป็นที่มาของครูฝ่ายปกครองที่มักตกลงกับเด็กว่า ถ้าเธอยังอยู่ในชุดนักเรียน อยู่ในบริเวณโรงเรียนหรือออกไปข้างนอก ย้ำว่า…ถ้ายังใส่ชุดนักเรียน หากพบเห็นเธอสูบบุหรี่ ครูจะเอาเรื่อง

“กระทรวงศึกษาฯห้ามครูใช้ไม้เรียว แต่ครูฝ่ายปกครองทั้งหลายต้องฝืนใจหยิบมาใช้ เพราะมันคือข้อต่อรอง ซึ่งการใช้เหตุผลบางครั้ง มันไม่ตอบโจทย์ หรือแก้ไขปัญหาไปได้ทั้งหมด” ครูสุรียุตร กล่าวทิ้งท้าย

สอดคล้องกับ มาสเซอร์ ภวัต ไพรเลิศ มาสเซอร์ฝ่ายปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา บอกว่า ยาเสพติดที่ระบาดหนักในหมู่นักเรียนอีกตัวคือ “บุหรี่ไฟฟ้า” เท่าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกับโรงเรียนต่างๆ พบว่า นักเรียนมีความเชื่อว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา

และ…การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น จะทำให้เลิกบุหรี่แบบธรรมดาได้ง่าย

ซึ่งสมมติฐานของเด็กที่เข้าใจแบบนี้ ถึงวันนี้…ยังไม่มีใครในสังคมมาตอบชัดๆ ให้เด็กรู้ว่า ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา โทษของมันที่มีต่อสุขภาพนั้น มันร้ายแรงต่างกันขนาดไหน

“จากประสบการณ์ของครูฝ่ายปกครอง เราสังเกตเด็กด้วยพฤติกรรม เมื่อเราพบกลุ่มเสี่ยง พบหลักฐานชัดเจน จำเป็นต้องล้อมวงคุย เชิญผู้ปกครองมาหาทางออก บางคนได้ผล ทิศทางดีขึ้น บางคนไม่ได้ผล เพราะครอบครัวไม่ช่วยโรงเรียนเข้มงวด”

ประเด็นสำคัญมีว่า พ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนก็ตามใจลูกมาก ให้เงินลูกใช้ ลูกบางคนก็นำไปซื้อน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบ ซึ่งการซื้อขายใช้การสั่งแบบออนไลน์ ส่งถึงบ้าน

“น้ำยาที่นำมาใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า ราคามีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน ครูฝ่ายปกครองในโรงเรียนต่างๆตรวจพบได้ทุกเกรด ขึ้นอยู่กับระดับฐานะของทางบ้าน…น้ำยากลิ่นผลไม้ กลิ่นช็อกโกแลตเป็นที่นิยมมาก ใครสูบบุหรี่ไฟฟ้ามา เวลาเดินเข้าใกล้จะรู้ทันทีว่า เธอแอบไปเล่นมาแล้ว เพราะกลิ่นผลไม้ หรือช็อกโกแลตพวกนี้จะแรงกว่าปกติ”

มาสเซอร์ ภวัต มองว่า ปัญหายาเสพติดแบบบุหรี่ไฟฟ้านั้น มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น ที่จะพัฒนาไปลองกับสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ เรื่องแบบนี้ต้องช่วยกันทั้งครูและผู้ปกครอง

…โชคดีที่ว่า อัสสัมชัญ ศรีราชา นักเรียนบางส่วนเป็นนักเรียนประจำ มาสเซอร์สามารถตีตารางกิจกรรมให้นักเรียนทำในแต่ละวัน เช่นให้เล่นกีฬา ออกาไนซ์เกมหลังเลิกเรียน ทำการบ้าน ทบทวนหนังสือก่อนนอน เหมือนบังคับให้เด็กไม่มีเวลาว่าง เพื่อให้ไกลยาเสพติดมากขึ้น

แต่…ต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีเด็กอีกมากมีเวลาว่างหลังเลิกเรียน บางส่วนไปตามบ้านเพื่อน แอบเล่นยา แบบที่ผู้ปกครองตามไม่ทัน

มาสเซอร์ ภวัต เป็นครูมาเกือบ 40 ปี พบปัญหายาเสพติดหนักขึ้นทุกวัน ยิ่งปัจจุบันโลกออนไลน์เข้ามาข้องเกี่ยวกับยามากขึ้น ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายกว่าในอดีต

อยากให้สังคมไทยทุกภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันเร่งแก้ไข ช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อแก้ปัญหานี้ให้ทุเลาเบาบางลงไปให้ได้ โดยให้เชื่อคำว่า…“การเริ่มต้นทำไม่มีคำว่าสายเกินแก้”.