สร้างความดีที่คนด้วยทศพิธราชธรรม ถวายเป็นพระราชสักการะแด่..พ่อของแผ่นดิน

แชร์เนื้อหานี้

สพฐ. สสส. สคล. ร่วมกับ เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน ขับเคลื่อนงานก้าวที่ 2 โรงเรียนเรียนคำพ่อสอน

มุ่งนำทศพิธราชธรรม พร้อมนำโคกหนองนาโมเดล วางรากฐานชีวิตเด็ก เยาวชน รับมืออบายมุขและวิกฤตโลก

ถวายเป็นราชสักการะ ในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมก้าวที่ 2 ของโรงเรียนคำพ่อสอน (ผ่านระบบออนไลน์) โดยน้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการศึกษา และการใช้ชีวิตไม่ให้ตกเป็นทาสอบายมุข มาสู่ภาคปฏิบัติในโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษา และปัญหาอบายมุขควบคู่กันไป

       ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน เริ่มขึ้นเป็นก้าวที่ 1 เมื่อปี 2559 เนื่องใน 70 ปีการครองราชย์ ที่น้อมนำคำสอน ด้านการพัฒนาการศึกษา ได้แก่ ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อกัน ไม่ให้แข่งขันกัน แค่แข่งกับตัวเองพอ ให้คนที่เรียนเก่งกว่าสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูสอนเด็กให้ทำงานร่วมกันเพื่อเห็นคุณค่ะของความสามัคคี และด้านการใช้ชีวิตไม่ให้ตกเป็นทาสอบายมุขเพื่อพึ่งตัวเองและเป็นที่เชือถือของคนอื่น ต้นแบบ รุ่นที่ 1 ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วม 27 แห่ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จที่ดีในพื้นที่ดำเนินงาน  และในปี 2564 จึงได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนก้าวที่ 2 ของโรงเรียนคำพ่อสอน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนเพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าวไว้ 2 แนวทางร่วมกันคือ 1.) น้อมนำหลักธรรมทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยมาตลอด70 ปี ปลูกฝังพฤติกรรมที่ครอบคลุมให้เกิดความเข้มแข็งของจิตใจ ในพฤติกรรมตนเอง และพฤติกรรมต่อผู้อื่น 2.) ปลูกฝังเรื่องการพึ่งตนเอง ด้านการเกษตรด้วยโคก หนอง นา โมเดล เพื่อสร้างนิสัยการเป็นผู้ผลิต เริ่มตั้งแต่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การปลูกฝังสิ่งเหล่านี้แต่วัยเยาวอย่างต่อเนื่องจะเกิดความเข้มแข็งภายในจิตใจและเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่เป็นภูมิคุ้มกันให้ชีวิตในทุกด้าน ได้จัดทำเป็นคู่มือกระบวนการเรียนรู้ ที่ผูกโยงเรื่องราวในสมัยทรงพระเยาว์และการทรงงานต่างๆของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติจริงของนักเรียน

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทศพิธราชธรรม จำเป็นมากต่อชีวิตที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขไกลจากเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ การที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้านำเอาทศพิธราชธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในการเรียนรู้ของนักเรียนของเยาวชนเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่อาจจะมากกว่าวิชาความรู้ เพราะหากปราศจากวิชาชีวิตก็อาจเอาตัวไม่รอดอย่างที่มีคำพูดที่ว่าความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แต่ถ้าเป็นความรู้ในวิชาชีวิตจะช่วยทำให้อยู่ในโลกนี้ได้อย่างผาสุกและทำประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ได้อย่างกว้างขวาง และนี่คือสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญ และทศพิธราชธรรมมิใช่ธรรมะที่เป็นนามธรรมแต่มีแบบอย่างของผู้ที่ปฏิบัติเป็นรูปธรรมที่เกิดผลกระทบเกิดคุณประโยชน์มากมายท่านผู้นั้นคือในหลวงรัชกาลที่ 9  นั่นเอง

ส่วนมุมมองของ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนและผู้ทรงวุฒิ สสส. กล่าวว่า โรงเรียนคำพ่อสอน เป็นการเริ่มต้นของการสร้างปัญญา เพราะโรงเรียนจะเป็นเบ้า หล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม ถ้าเราสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งได้ สังคมของเราในอนาคตภายภาคหน้าเราก็จะได้เห็นสังคมที่เป็นสังคมที่มีความสุขความขัดแย้งความรุนแรงลดลง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งเหล่านี้เริ่มจาก จุดเล็กๆ แล้วก็ขยายออกมาเป็นเครือข่าย ปี 2554 ตอนนี้ก็มี ไม่ต่ำกว่า 350 โรงเรียนแล้ว โรงเรียนแล้ว ซึ่งต้องเร่งขยายผล อีกทั้งเรื่องของเน้น คุณภาพด้วย.

อาจารย์บุญนำ หมีนยะลา ผอ.โรงเรียนบ้านนาม่วง สพป.สงขลา เขต 3 กล่าวว่าได้มีโอกาสย้ายมาทำงานจึงเริ่มเรียนรู้องค์กร เป็นหนึ่งในโรงเรียนคำพ่อสอน จึงคิดว่าจะต้องสานงานจุดนี้ให้ได้ แล้วต้องก่องานเพิ่ม และปีนี้ก็เข้าสู่ ก้าวที่ 2 ของโรงเรียนคำพ่อสอน ก็คือการทำโคกหนองนา ซึ่งมันติดตรงที่ไม่สามารถ เปิด on site ได้  จึงมีการประชุมกันว่าถ้าเราจะสานงานตรงนี้ได้ ปีนี้คุณครูอาจจะต้องเหนื่อยกันสักหน่อย เพราะเราไม่สามารถจะให้ชุมชนหรือนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมได้ การทำโคกหนองนาเราเริ่มจากความเพียร สู่ความอดทน ความไม่เบียดเบียน การแบ่งหน้าที่เพื่อทำตามกิจกรรมนั้นๆได้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงทำให้ทศพิธราชธรรมและโคกหนองนา เรียนรู้ไปในแบบคู่ขนานโดยแยกออกจากกันไม่ได้ เนื่องจากตอนนี้หลายสถานที่หลายพื้นที่ก็เจอเรื่องวิกฤตโควิดเข้าไป และสำหรับโรงเรียนบ้านนาม่วง เราก็สามารถผ่านวิกฤตตรงนี้ได้ หนึ่งก็คือเรื่องหลักเกษตรโคกหนองนา ทำนา การเกษตรเป็นวิถีอยู่แล้ว หากเกิดการล็อคดาวน์หรือสถานการณ์อีก เชื่อว่าครอบครัวโรงเรียนบ้านนาม่วง จะสามารถนำไปดำรงชีวิตต่อได้

ด้าน ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ฐานคิดของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา พัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาการ ลักษณะเด่นของกระบวนการเรียนรู้ทศพิธราชธรรมของโรงเรียนคำพ่อสอนมิใช่สอน แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ใช้ได้จริง ซึ่งทำให้เด็กได้กลับมาเห็นตัวเอง รู้จักการจัดการตนเอง ทั้งเรื่องกายอารมณ์และสังคม มีการแบ่งปัน เป็นการคิดขั้นสูง คิดที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ การเข้าอยู่ร่วมในสังคม และการช่วยเหลือคนอื่น อีกทั้งเรื่องของสมรรถนะการสื่อสาร เป็นสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบันและโลกอนาคต สื่อสารเทคโนโลยี การสื่อสารกับชุมชน สื่อสารกับผู้ปกครอง สื่อสารกันเองหรือการสื่อสารกับใจตัวเองด้วย ด้วยที่โรงเรียนคำพ่อสอนได้มีการรวมพลัง ทำงานเป็นทีม คือการมีเป้าหมายเดียวกันไม่ต้องมาทำงานใกล้กัน แต่การรวมพลังทำงานเป็นทีม สามารถเป็นแบบอย่างให้สถานศึกษาต่างๆ ต่อไปได้

ขณะที่นายวิชิต จิตเกษม ผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านนาม่วง เล่าว่า การทำโคกหนองนา เท่าที่เราทดลองดู คิดว่ามันตอบโจทย์ เพราะชุมชนเราก็มีวิถีชีวิตของการทำนาอยู่แล้ว เป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับอาชีพของคนในชุมชนจริงๆ ในการเรียนการสอนก็สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่ได้อยากให้ลูกเราต้องเก่งมากมาย แต่เราคาดหวังให้ลูกๆ ใช้ชีวิตโดยเข้ากับคนอื่นได้ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนดีของสังคม และการทำงานโคกหนองนาร่วมกับประเด็นของทศพิธราชธรรม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ก็นับว่าตอบโจทย์ของการอยู่ร่วมกันอยได้อย่างเป็นสุข.

ทั้งนี้ โครงการจะเริ่มใช้ คู่มือกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวทั้งหมดนี้ ที่โรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบ รุ่น 1-2 จำนวน 27 โรงเรียน โดยจะร่วมมือกับ สพฐ. เพื่อเผยแพร่ ไปยัง 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการทำวิจัยติดตามผลโดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเปิดให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถดาวน์โหลด เพื่อนำไปจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน ได้ในเวปไซต์ : ที่โรงเรียนคำพ่อสอน.com  โดยจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2565 เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กที่มีคุณค่าจากสิ่งที่พ่อของแผ่นดินมอบให้ และขอน้อมถวายเป็นพระราชสักการะในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม  พุทธศักราช 2564 นี้.